องค์ประกอบของดนตรี

องค์ประกอบของดนตรี

ดนตรีเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยเสียงเพื่อเป็นสื่อในการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึก ผู้ฟังไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องเสียงได้เหมือนศิลปะแขนงอื่นๆ มนุษย์เราต้องอาศัยการฟังโดยใช้หูเท่านั้นจึงจะสามารถรับรู้และซาบซึ้งถึงความไพเราะของเสียงที่เกิดจากบทเพลงต่างๆ ได้ โดยบทเพลงต่างๆ จะต้องอาศัยองค์ประกอบซึ่งเป็นส่วนสำคัญของดนตรี และเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ดนตรีเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ดนตรีประกอบไปด้วยส่วนสำคัญต่างๆ คือ

(๑) จังหวะ (Rhythm) คือ การจัดเรียงของเสียงหรือความเงียบซึ่งมีความสั้นยาวต่างกัน กำหนดโดยจังหวะตบ (Beat) หรือจังหวะที่สม่ำเสมอ นอกจากนั้นแล้วจังหวะของดนตรียังมีทั้งจังหวะที่เน้นหนักหรือเบา สั้นหรือยาว ซึ่งอัตราจังหวะต่างๆ นี้จะให้ความรู้สึกและอารมณ์เพลงที่ต่างกันด้วย
(๒) ทำนอง (Melody) คือ เสียงที่จัดให้เข้ากับจังหวะเป็นระดับเสียงสูง หรือต่ำต่อเนื่องกันไปตามแนวนอน ทำนองมีหลากหลายลักษณะแตกต่างกันออกไป คล้ายกับภาษาพูด ดนตรีจึงเป็นภาษาดนตรีที่ประกอบเป็นประโยคเพื่อถ่ายทอดความคิดของผู้ประพันธ์ดนตรี ดังนั้นการที่จะทำความเข้าใจบทเพลงจะต้องจำได้ว่าทำนองมีลักษณะอย่างไร
(๓) เสียงประสาน (Harmony) คือ องค์ประกอบของดนตรีที่เกิดจากการผสมผสานของเสียงที่มากกว่า ๑ เสียงที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน เสียงประสานเป็นองค์ประกอบของดนตรีที่สล้บซับซ้อนกว่าจังหวะและทำนอง แนวคิดเรื่องการประสานเสียงที่สำคัญคือ คอร์ด (Chords) ได้แก่ กลุ่มของเสียงตั้งแต่๓ เสียงขึ้นไป มาจัดเรียงกันตามแนวตั้งโดยมีทั้งความกลมกลืนและไม่กลมกลืน การนำเสียงตั้งแต่ ๒ เสียงขึ้นไปมาเล่นพร้อมกันจะเกิดการผสมของเสียงซึ่งผลที่เกิดขึ้นจะได้ทั้งเสียงที่กลมกลืนกันและไม่กลมกลืนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวางระยะห่างของเสียงในแนวตั้ง เสียงที่กลมกลืนจะทำให้รู้สึกสบายหู ส่วนเสียงที่ไม่กลมกลืนกันจะทำให้รู้สึกขัดหู ตึงเครียด ในการประสานเสียงมักจะมีการให้คอร์ดที่กลมกลืนและไม่ กลมกลืน กัน
(๔) รูปแบบ (Form) รูปแบบของเพลงเป็นโครงสร้างที่ทำให้ดนตรีมีความหมายในลักษณะของเสียงกับเวลา รูปแบบช่วยทำให้ดนตรีมีความต่อเนื่องสัมพันธ์ และทำให้มีความเป็นหนึ่ง รูปแบบอาจประกอบไปด้วยทำนองหลัก ทำนองรอง มีความสั้นยาวที่ต่างกันมีการซ้ำทำนองหลักและทำนองรองซึ่งจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่บทเพลง
(๕) สีสันของเสียง (Tone Color) คือ คุณสมบัติของเสียงเครื่องดนตรีรวมทั้งเสียงร้องของมนุษย์ซึ่งมีความแตกต่างกันเป็นลักษณะเฉพาะของเสียงที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันซึ่งแม้จะมีระดับเสียงเดียวกันแต่เมื่อใช้เครื่องดนตรีต่างชนิดกันก็จะให้คุณลักษณะหรืออารมณ์ของเสียงที่แตกต่างกันออกไป เช่น เสียงของไวโอลินจะแตกต่างจากเสียงเปียโน หรือทรัมเป็ต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น